เร่งประชุมแก้ปัญหาเผาอ้อย ทำฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูง

เร่งประชุมแก้ปัญหาเผาอ้อย ทำฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูง

View icon 109
วันที่ 28 ก.พ. 2566 | 12.26 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
เร่งประชุมแก้ปัญหาเผาอ้อย ทำฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูง พบสถิติไหม้ซ้ำซากในพื้นที่ภาคอีสาน

วันนี้(28 ก.พ.2566) นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้จัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ใน 3 พื้นที่ประกอบด้วย พื้นที่ในเมือง พื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกรรม โดยในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายนของทุกปี จะเกิดปัญหา PM2.5 ในหลายพื้นที่ของประเทศ และเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับฤดูเก็บเกี่ยวอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ โดยปีนี้ คาดว่า ผลผลิตอ้อยทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้น มีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยประมาณ 12 ล้านไร่ และมีจำนวนอ้อยเข้าหีบจำนวนประมาณ 74 ล้านตัน โดยประมาณการว่าจะมีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบในสัดส่วนร้อยละ 30  ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2564 - 2566 พบจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกอ้อย ประมาณร้อยละ 3-4  ของพื้นที่เพาะปลูกอ้อยทั้งหมดทั่วประเทศ ทำให้มาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ยังไม่เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ซึ่งกำหนดให้ปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2565/2566 ไม่เกินร้อยละ 5 และในฤดูการผลิตปี 2566/2567 ปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบต้องเป็น 0 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

นายปิ่นสักก์ กล่าวอีกว่า ได้ร่วมกับนายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประชุมร่วมกับทีมผู้บริหาร คพ. และ สอน. เพื่อหารือแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามมติ ครม. และยกระดับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จากอ้อยไฟไหม้ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่ง สอน. ตรวจพบพื้นที่ปลูกอ้อย ที่มีไฟไหม้ ซ้ำซาก ยังคงมีอยู่ในบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา และบริเวณรอยต่อจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้ คพ. แจ้งไปยังจังหวัดดังกล่าวที่มีไฟไหม้ซ้ำซากในพื้นที่ปลูกอ้อย ให้ยกระดับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 จากอ้อยไฟไหม้อย่างเข้มงวดต่อไป

ทั้งนี้ ในระยะยาว คพ. และ สอน. จะได้ทำงานอย่างใกล้ชิด โดยมีแผนจะร่วมกันจัดทำ After Action Review และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อยกระดับมาตรการระยะยาวสำหรับเตรียมฤดูกาลเปิดหีบในปีถัดไป โดยจะมีมาตรการที่สำคัญได้แก่ มาตรการส่งเสริมช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยด้วยเทคโนโลยีและ องค์ความรู้ทางวิชาการ ควบคู่ไปกับมาตรการด้านบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติโรงงาน พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และพระราชบัญญัติการสาธารณสุข นายปิ่นสักก์ กล่าว