"นิพิฏฐ์" กระตุก "พิธา" ยกเลิกเกณฑ์ทหาร จะเหลือแต่ลูกคนจนสมัครเป็นพลทหาร

"นิพิฏฐ์" กระตุก "พิธา" ยกเลิกเกณฑ์ทหาร จะเหลือแต่ลูกคนจนสมัครเป็นพลทหาร

View icon 2.6K
วันที่ 29 พ.ค. 2566 | 16.21 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
"นิพิฏฐ์" กระตุก “พิธา-ก้าวไกล” ยกเลิกเกณฑ์ทหารทำทันที เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ ยิ่งเหลื่อมล้ำ จะเหลือแต่ลูกคนจนสมัครเป็นพลทหาร หน้าที่พลเมืองบางเรื่องไม่ว่าจนหรือรวย เขาก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติ แต่สนันสนุนให้ทำทันที ยกเลิกทหารรับใช้ ทำร้ายพลทหาร

ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร วันนี้ (29 พ.ค.66) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยผ่ายเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ว่า อยากให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เปลี่ยนแปลงการเกณฑ์ทหารในบางเรื่อง เช่น นายพลที่เกษียณไปนานแล้ว ยังมีทหารรับใช้ การนำพลทหารไปซักผ้าให้ภรรยานายทหาร หรือการทำร้ายร่างการพลทหาร อย่างนี้ต้องยกเลิกทันที ตนพร้อมสนับสนุน แต่ตนอยากให้ทบทวน การยกเลิกการเกณฑ์ทหารที่จะทำทันที เพราะในสังคมที่ยังมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร จะตอกย้ำความเหลื่อมล้ำให้เห็นชัดมากขึ้น ในขณะที่นายพิธา ต้องการยกเลิกความเหลื่อมล้ำ

นายนิพิฏฐ์ ระบุว่า การให้เป็นทหารด้วยความสมัครใจ โดยมีเงินเดือน และสวัสดิการเป็นแรงจูงใจ คิดหรือว่า ลูกหลานเจ้าสัว ที่รวยลำดับ 1-10 ของประเทศ จะสมัครเป็นพลทหาร เพราะมีเงินเดือนเป็นแรงจูงใจ  ตนคิดว่า ลูกหลานยายแม้น ที่บ้านหนองหมาว้อ  น่าจะสมัครเป็นพลทหารเพราะมีแรงจูงใจจากเงินเดือนมากกว่าลูกเจ้าสัว  หรือใครว่าไม่จริง ?

“ทำไมลูกหลานยายแม้น แห่งบ้านหนองหมาว้อ สมัครเป็นพลทหาร ก็เพราะ 1. เขาจน  2. เขาขาดโอกาส และ 3. เขาไม่มีทางเลือกที่อิสระ (ทางเลือกที่ไม่อิสระเป็นคำทางปรัชญาการเมือง) หน้าที่บางเรื่อง เป็นหน้าที่ของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย  ที่มีต่อรัฐไม่ว่าเขาจะจน หรือ รวย เขาก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติ”

นายนิพิฏฐ์ ระบุด้วยว่า การยกเลิกการเกณฑ์ทหารในอเมริกา ช่วงแรกๆ เราจึงเห็นคนผิวสี คนอพยพ หรือคนจน ที่สมัครเป็นพลทหาร ในปี 2006 บัณฑิต ที่จบจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน 1,108 คน สมัครเป็นพลทหารเพียง 9 คน และเป็นเช่นนี้เหมือนกันในมหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกา มีสมาชิกสภาคองเกรส เพียง 2% เท่านั้นที่ลูกชายหรือลูกสาวสมัครเป็นทหาร

ในอเมริกา ภาระการเป็นทหารมีความเหลื่อมล้ำสูงมากในปี 2004 ทหาร 70% เป็นคนผิวสี เชื้อสายสเปน หรือรับสมัครจากชุมชนผู้มีรายได้น้อย หากจะนำวิธีคิดนี้ มาใช้ในสังคมไทย ที่มีความเหลื่อมล้ำสูงกว่าในอเมริกา ลูกหลานคนจนหรือคนที่ไม่มีทางเลือกเท่านั้นที่จะสมัครเป็นพลทหาร