ตร.ไซเบอร์ ยังไม่พบเหยื่อถูกดูดเงิน จากการคุยเพียง 2 นาที

View icon 108
วันที่ 16 ก.พ. 2567 | 07.34 น.
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - ตำรวจไซเบอร์ ไปแถลงความคืบหน้าผลการปราบปรามเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และความพยายามอุดช่องโหว่ต่าง ๆ ทางออนไลน์ พร้อมชี้แจงประเด็นที่มีคนที่ถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ออกมาเปิดเผยเทคโนโลยีตัวใหม่ ยืนยันว่าตอนนี้ยังไม่พบผู้เสียหายถูกหลอกด้วยวิธีการนี้

ตร.ไซเบอร์ ยังไม่พบเหยื่อถูกดูดเงิน จากการคุยเพียง 2 นาที
เริ่มจากการขยายผลจับกุมผู้ต้องหาที่ลักลอบขายข้อมูลส่วนบุคคล ที่เปิดปฏิบัติการต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 7 โดยคราวนี้ จับกุมผู้ต้องหาได้ 9 คน เหลืออีก 2 คน ที่อยู่ระหว่างการติดตามจับกุม

โดยหนึ่งในผู้ต้องหา คือ นายสุวรรณ อายุ 42 ปี เป็นหัวหน้าฝ่ายสินเชื่อสถาบันการเงินเอกชนแห่งหนึ่ง ยอมรับว่าได้จดเอาข้อมูลลูกค้าของสถาบันการเงินของตนเอง ไปขายต่อให้กลุ่มที่สนใจ เช่น ตัวแทนสินเชื่อ, ตัวแทนประกัน บางกรณีตกไปอยูในมือของมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ครั้งละ 3,000-5,000 รายชื่อ สร้างรายได้ต่อเดือนหลักหมื่นบาท ทำมาแล้วเกือบ 2 ปี

อีกคดีเป็นการจับกุมคนจัดหาคนไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมีการประสานกับตำรวตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้ว จับกุม นางสาวกัญญาณี ได้ที่บริเวณด่านชายแดน นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.กุยบุรี ดำเนินคดี

เหยื่อทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แฉแอปฯ ดูดเงินใหม่
ส่วนความคืบหน้าที่เพจสายไหมต้องรอดได้พาผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงให้ไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา แล้วหนีกลับออกมาได้ เข้าให้ข้อมูลกับตำรวจไซเบอร์ 1 เพื่อหวังนำข้อมูลพฤติการณ์ที่ไปเจอมา ไปขยายผลทางคดี

โดยเฉพาะที่ได้พบว่ามีการจัดซื้อข้อมูล เบอร์โทรศัพท์ และซื้อเครื่องมือดูดข้อมูลเหยื่อ จนเหลือเพียงการโทร. หลอกเหยื่อให้ตอบคำถามที่ต้องการ เพื่อยืนยัน ใช้เวลาไม่เกิน 2 นาที ก่อนจะถูกดูดเงินไปจนเกลี้ยงบัญชี

พลตำรวจโท วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการ สอท. ยืนยันว่า จากข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนกว่า 4 แสนรายการ ยังไม่พบว่ามีเหยื่อในไทยถูกหลอกด้วยวิธีดังกล่าว ส่วนเครื่องมือที่ว่าก็ยังไม่เคยมีปรากฏในแผนประทุษกรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าหากมิจฉาชีพมีข้อมูลขนาดที่ว่าใช้วิธีสวมรอยเป็นเหยื่อน่าจะง่ายกว่าการแฮ็กข้อมูล

ขณะที่ศูนย์ PDPC Eagle Eye ของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เปิดเผยผลการตรวจสอบปัญหาข้อมูลรั่วไหลผ่านเว็บฯ หน่วยงานต่าง ๆ ผลจากการตรวจสอบกว่า 20,000 หน่วยงาน พบ 5,869 หน่วยงาน ที่มีการรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลไม่เหมาะสม ยังมีการเปิดเผยข้อมูลเกินความจำเป็นอยู่ ส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นเว็บฯ ของหน่วยงานราชการ ซึ่งได้แจ้งให้มีการแก้ไขปรับปรุงแล้ว