คณะแพทย์มช. เผยผลวิจัย สูดฝุ่น PM 2.5 มีผลกระตุ้นเลือดกำเดาไหล

คณะแพทย์มช. เผยผลวิจัย สูดฝุ่น PM 2.5 มีผลกระตุ้นเลือดกำเดาไหล

View icon 91
วันที่ 13 มี.ค. 2567 | 18.14 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ผลวิจัยชี้ชัด สูดฝุ่น PM 2.5 มีผลกระตุ้นเลือดกำเดาไหล แนะก้มหน้าบีบปีกจมูก ช่วยห้ามเลือดได้เบื้องต้น

ช่วงบ่ายวันนี้ ( 13 มี.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท้องฟ้าในตัวเมืองเชียงใหม่ปลอดโปร่งมากขึ้นจนมองเห็นดอยสุเทพได้อย่างชัดเจน โดยค่าฝุ่น PM 2.5 ต่ำกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรทั้ง 25 อำเภอ แต่ก็ยังเกินค่ามาตรฐานที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แม้แนวโน้มคุณภาพอากาศจะดีขึ้น แต่เช้าวันนี้พบจุดความร้อนจากไฟป่า พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 291 จุด กระจายใน 19 อำเภอ จากทั้งหมด 25 อำเภอของเชียงใหม่ มากที่สุดอยู่ที่อำเภอแม่แตง 40 จุด ที่พบไฟป่าในพื้นที่สูงชัน หน้าผาและเหวลึก ทำให้การดับไฟเป็นไปอย่างยากลำบาก แม้ทุกภาคส่วนจะระดมกำลังเข้าดับไฟป่าอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวันทั้งคืนมานานหลายวัน โดยไฟป่าที่ยังเกิดขึ้นจำนวนมาก หากกระแสลมอ่อนลง อาจทำให้กลุ่มฝุ่นควันกลับมาปกคลุมจนคุณภาพอากาศวิกฤตได้อีกครั้ง

สอดคล้องกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) ที่ออกประกาศฉบับที่ 8 ระบุ จากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าภาคเหนือแนวโน้มการระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ไม่ดีถึงอ่อน สภาวะอากาศใกล้ผิวพื้นมีลักษณะปิดตลอดช่วง ทำให้การระบายฝุ่นละอองเป็นไปอย่างจำกัดและเกิดการสะสม ส่งผลให้ฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเฝ้าระวังสุขภาพ

ขณะที่ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้าประชุมกับคณะกรรมการแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 แบบบูรณาการ และได้สั่งการให้ทุกหน่วยยกระดับสถานการณ์ให้ประกาศปิดป่าอุทยาน ป่าอนุรักษ์ ห้ามเผาเด็ดขาดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ในส่วนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด

ด้าน รศ.พญ.กรรณิการ์ รุ่งโรจน์วัฒนศิริ หัวหน้าภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เปิดเผยว่า ช่วงเดือนก.พ.– เม.ย. ของทุกปี ภาคเหนือตอนบนจะเจอกับปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว อาการที่มักจะพบบ่อยคือ ตาแดง ผื่นขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เยื่อบุจมูกอักเสบ และเลือดกำเดาไหล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาการที่ผู้ปกครองมักพาบุตรหลานมาพบแพทย์บ่อยที่สุด

ส่วนสาเหตุที่เด็กมีเลือดกำเดาไหลในช่วงที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงนั้น ทางภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้ทำการศึกษาร่วมกับนักศึกษาแพทย์ หาความสัมพันธ์ระหว่างอุบัติการณ์ของการเกิดเลือดกำเดาไหลในผู้ป่วยนอก เเละห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กับค่าฝุ่นที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน ในช่วงที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 พบว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 มีความสัมพันธ์กับจำนวนผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลด้วยอาการเลือดกำเดาไหลอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งปกติแล้วบริเวณเยื่อบุในจมูกคนเราจะมีเลือดมาเลี้ยงเยอะอยู่แล้ว หากสูดเอาฝุ่น PM2.5 เข้าไป จะทำให้เกิดการอักเสบบริเวณเยื่อบุในช่องจมูก และไปกระตุ้นทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีโอกาสเลือดกำเดาไหลง่ายกว่าผู้ใหญ่

เมื่อพบว่ามีเลือดกำเดาไหล ให้ก้มหน้าลงแล้วใช้มือบีบบริเวณปีกจมูกทั้งสองข้างเข้าหากัน ค้างไว้ประมาณ 5 นาที อาจช่วยในการห้ามเลือดเบื้องต้นได้ หากมีเลือดไหลลงคอให้บ้วนออกมา จะช่วยให้เลือดไม่อุดทางเดินหายใจและยังช่วยประเมินปริมาณเลือดที่ออกด้วย แต่หากกดปีกจมูกแล้วหลังจากที่ปล่อยยังมีเลือดไหลออกมาปริมาณมาก หรือเลือดกำเดาไหลข้างเดียว ร่วมกับมีอาการปวด คัดจมูกในข้างนั้น อาจสงสัยภาวะก้อนในโพรงจมูก ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังพบว่าในช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน ผู้ป่วยที่เป็นจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ มักจะมีอาการแย่ลง ดังนั้นในช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 สูง ควรใส่หน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้  หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่มีฝุ่นเยอะ และควรล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเพราะจะช่วยล้างเศษฝุ่นละออง สะเก็ด หรือน้ำมูกออกมาได้