ข่าวดีป่าฮาลาบาลา ยืนยันมีเสือโคร่งอยู่จริง ตอกย้ำความสมบูรณ์ป่าใต้

ข่าวดีป่าฮาลาบาลา ยืนยันมีเสือโคร่งอยู่จริง ตอกย้ำความสมบูรณ์ป่าใต้

View icon 133
วันที่ 24 พ.ค. 2567 | 16.24 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
อุทยานแห่งชาติบางลาง จ.ยะลา เปิดภาพกล้องดักถ่าย เจอเสือโคร่งออกหากินในพื้นที่ป่าฮาลาบาลา หลักฐานสำคัญยืนยันว่าป่าใต้มีเสือโคร่งอยู่จริง

ป่าฮาลาบาลาวันนี้(24 พ.ค.2567) อุทยานแห่งชาติบางลาง นำระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Pertol) มาใช้ในการออกตรวจลาดตระเวนพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งการออกตรวจดังกล่าวได้นำเทคโนโลยี โดยเฉพาะ เครื่องมือรับสัญญาณดาวเทียม (GPS) และกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าแบบอัตโนมัติ จึงทำให้อุทยานแห่งชาติบางลาง ได้พบกับสัตว์ป่านานาชนิดที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ เช่น ช้างป่า กวางป่า กระทิง สมเสร็จ เสือดำ/เสือดาว โดยเฉพาะเสือโคร่งในอดีตที่ได้กล่าวขานไว้ว่ามีอยู่ในป่าฮาลา - บาลา แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีอยู่จริง กระทั่งอุทยานแห่งชาติบางลาง ได้นำระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Pertol) มาใช้ โดยนำกล้องดักถ่ายภาพแบบอัตโนมัติเข้าไปติดตั้งและสามารถถ่ายภาพเสือโคร่งได้ถึง 3 ครั้ง

จุดที่ 1 ติดตั้งกล้องที่บริเวณคลองน้ำใส ท้องที่หมู่ที่ 8 ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา กล้องสามารถจับภาพเสือโคร่งตัวแรกได้ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 เวลา 13.01.28 นาที อุทยานแห่งชาติบางลางจึงได้ตั้งชื่อ (บางลาง 01)

จุดที่ 2 ติดตั้งกล้องที่บริเวณน้ำตกฮาลาซะห์ (คลองฮาลาซะห์) ท้องที่หมู่ที่ 9 ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา กล้องสามารถจับภาพเสือโคร่งได้อีกครั้ง เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 เวลา 00.13.21 นาที ระยะทางจากการตั้งกล้องจุดที่ 1 ถึง จุดที่ 2 ระยะทางประมาณ 5.5 กิโลเมตร จากการพิจารณารูปร่าง ลายตามตัว จึงทำให้เชื่อได้ว่าเป็นเสือตัวเดียวกันกับที่กล้องจุดที่ 1 ถ่ายได้เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 64 (บางลาง 01)

จุดที่ 3 ติดตั้งกล้องที่บริเวณโป่งน้ำใกล้คลองน้ำใส ท้องที่หมู่ที่ 8 ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา กล้องสามารถจับภาพเสือโคร่งได้เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 เวลา 01.44.49 นาที ระยะทางจากการตั้งกล้องจุดที่ 1 ถึง จุดที่ 3 ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร จากการพิจารณารูปร่าง ลายตามตัว จึงทำให้เชื่อได้ว่าเป็นเสือตัวใหม่ จึงได้ตั้งชื่อ (บางลาง 02)

สำหรับอุทยานแห่งชาติบางลาง เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 88 ของประเทศไทย ได้รับการประกาศตาม พระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 ประกอบด้วยบริเวณที่ดินป่าลาบู - ถ้ำทะลุ และป่าเบตง       ในท้องที่ ตำบลถ้ำทะลุ ตำบลเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา ตำบลแม่หวาด ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต  และตำบลอัยเยอร์เวง ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีเนื้อที่รับผิดชอบ 163,125 ไร่ หรือ 261 ตารางกิโลเมตร และเตรียมการผนวกเป็นอุทยานแห่งชาติบางลางเพิ่มเติม เนื้อที่ 233,366.745 ไร่ หรือ 373.386 ตารางกิโลเมตร