พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยปี 66

พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยปี 66

View icon 292
วันที่ 2 มี.ค. 2567 | 10.00 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด ปี 2566 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้รวมประมาณ 101.818 ล้านไร่ ลดลงจากปี 2565 ที่มีพื้นที่ป่าไม้รวมประมาณ 102.135 ล้านไร่ พื้นที่ลดลงคิดเป็นร้อยละ 0.31

จากระบบบัญชีข้อมูลกรมป่าไม้ ปี 2566 พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้รวมทั้งหมด 101,818,155.7 ไร่ คิดเป็นประมาณร้อยละ 31.47 ของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด โดยสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้เป็นป่าปฐมภูมิคิดเป็นร้อยละ 82 และที่เหลือเป็นป่าปลูกคิดเป็นร้อยละ 18 พื้นที่ป่าไม้ในปีนี้ลดลงจากข้อมูลในปี 2565 ซึ่งมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมดรวม 102,135,974.9 ไร่ ซึ่งพื้นที่ลดลงคิดเป็นร้อยละ 0.31

หากดูข้อมูลระหว่างปี 2516 - 2566 จะเห็นได้ว่าจำนวนพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คือ ช่วงปี 2525-2541 จากเดิมที่มีพื้นที่ป่าไม้เฉลี่ยมากกว่า 100 ล้านไร่ ในปี 2541 จำนวนพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยเหลือเพียง 81.07 ล้านไร่ เท่านั้น แล้วจึงเริ่มทยอยเพิ่มพื้นที่มากขึ้นจนมาแตะระดับ 100 ล้านไร่ในปี 2543

“จำนวนพื้นที่ป่าไม้ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงอย่างต่อเนื่อง” ในปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ในภาคเหนือเหลือเพียง 37.97 ล้านไร่ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเหลือเพียง 15.60 ล้านไร่ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา จำนวนพื้นที่ป่าไม้ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงเกือบครึ่ง

“อัตราการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก”  Global Forest Watch ระบุว่า แม้หลายประเทศในประชาคมโลกจะให้คำมั่นแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน ย้อนไปเมื่อปลายปี 2021 บนเวที COP26 ผู้นำกว่า 100 ประเทศได้ลงนามปฏิญญากลาสโกว (Glasgow Declaration) ในการที่จะยุติและฟื้นฟูพื้นที่ป่าและที่ดินเสื่อมโทรมภายในปี 2030 อย่างไรก็ตามสถิติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอาจทำให้การทำตามเป้าหมายดังกล่าวเป็นไปได้ยาก โดยพบว่าในแต่ละปีการสูญเสียพื้นที่ป่า โดยเฉพาะป่าดิบชื้นและป่าฝนในบราซิล คองโก และอินโดนีเซีย ล้วนส่งผลกระทบอย่างมากต่อความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ รวมถึงภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่นับวันยิ่งรุนแรงขึ้น

ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศไทย มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งหมดเป็น 177.94 ล้านไร่ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 55 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยเป็นพื้นที่สีเขียวที่เป็นป่าธรรมชาติ (ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ป่าในที่ดินของรัฐและพื้นที่อื่นๆ) รวม 113.23 ล้านไร่ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 35 ของพื้นที่ของประเทศทั้งหมด ส่วนพื้นที่สีเขียวเพื่อการใช้ประโยชน์ ปัจจุบันรวมประมาณ 25.95 ล้านไร่ ตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 48.53 ล้านไร่ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 15 ขอบพื้นที่ทั้งหมด และพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและเพื่อการเรียนรู้ ตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 16.18 ล้านไร่ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 5 ของพื้นที่ทั้งหมด

“รูปแบบการฟื้นฟูป่าตามแผนฟื้นฟูใหม่” การปลูกป่าเป็นแนวทางการฟื้นฟูสภาพป่า ที่เสื่อมสภาพให้ฟื้นกลับมาเป็นป่าสมบูรณ์ หรือให้เป็นพื้นที่สีเขียวที่มีการใช้ ประโยชน์ร่วมกับพืชเกษตร เพิ่มศักยภาพ พื้นที่ให้มีประโยชน์สูงสุด จำนวนต้นไม้ที่ปลูก แล้วแต่วัตถุประสงค์ และสภาพพื้นที่

ตัวอย่าง “การปลูกป่าเลียนแบบธรรมชาติ” ซึ่งเป็นการปลูกป่า แบบประณีตตามลักษณะของป่าธรรมชาติ โดยปลูก ไม่เป็นแถวเป็นแนว กำหนดชนิดไม้ท้องถิ่น หลากหลายชนิดพันธุ์และหลายช้ันเรือนยอด  “การปลูกป่าแบบเสริมป่า” ซึ่งเป็นการปลูก เสริมป่าธรรมชาติที่ถูกท้าลาย องค์ประกอบทางนิเวศป่าไม้บางส่วน โดยกำหนดจำนวนไม่น้อยกว่า 25 ต้น/ไร่ “การปลูกแบบขั้นบันได” ซึ่งเป็นรูปแบบการฟื้นฟูป่าที่เหมาะสมในพื้นที่ที่มีความลาดชัน ปานกลาง กำหนดแนวปลูกไปตาม เส้นระดับชั้นความสูงโดยใช้เครื่องมือ A-เฟรม และขุดเป็นแนวขั้นบันไดกว้าง ประมาณ 1 เมตร ตามแนวที่กำหนด เป็นต้น

หน่วยงานภาครัฐมีการวางแผนการปลูกป่าและการจัดการเชิงพื้นที่อย่างเป็นบูรณาการ ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2552 พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เป็นต้น รวมทั้งมีกระบวนการมีส่วนร่วมและสร้างการรับรู้แก่ชุมชนและประชาสังคมทุกระดับ เพื่อสร้างความร่วมมือเพิ่มพื้นที่สีเขียวเห็นเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

ปัญหาภาวะโลกร้อนนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวและแนวทางฟื้นฟูป่าจึงเป็นประเด็นระดับโลกที่ประเทศต่างๆ ในประชาคมโลกให้ความสำคัญ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง